Powered By Blogger

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง:แฟ้มสะสมผลงาน

1.การประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริง
ความหมาย
การประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริง (Authentic Assessment) หมายถึง กระบวนการสังเกต การบันทึก และรวบรวมข้อมูลจากงานและวิธีการที่ ผู้เรียนทำ เพื่อเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจในการศึกษาถึงผลกระทบต่อผู้เรียนเหล่านั้น การประเมินจากสภาพจริงจะไม่เน้นการประเมินเฉพาะทักษะพื้นฐาน แต่จะเน้นการประเมินทักษะการคิดที่ซับซ้อนในการทำงานของนักเรียน ความสามารถในการแก้ปัญหาและการแสดงออกที่เกิดจากการปฏิบัติในสภาพจริงในการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยที่ผู้เรียนจะเป็นผู้ค้นพบ ผลิตความรู้ และได้ฝึกปฏิบัติจริง รวมทั้งเน้นพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อสนองจุดประสงค์ของหลักสูตรและความต้องการของสังคม การประเมินผลจากสภาพที่แท้จริงจะ แตกต่างจากการประเมินผลการเรียนหรือการประเมินเพื่อรับรองผลงาน เพราะเน้นการให้ความสำคัญกับพัฒนาการและความต้องการช่วยเหลือและการประสบความสำเร็จของผู้เรียนแต่ละคน มากกว่าการประเมินผลการเรียนที่มุ่งการให้คะแนนผลผลิตและจัดลำดับที่ แล้วเปรียบเทียบกับกลุ่ม เนื่องจากจะวัดผลโดยตรงในสภาพการแสดงออกจริงๆ ในเนื้อหาวิชา ซึ่งการทดสอบด้วยข้อสอบจะวัดได้เฉพาะความรู้และทักษะบางส่วนและเป็นการวัดโดยอ้อมเท่านั้น นอกจากนี้ การประเมินผลจากสภาพที่เป็นจริงจะมีความต่อเนื่องในการให้ข้อมูลในเชิงคุณภาพที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สอนเพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
ลักษณะสำคัญของการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริง
การประเมินผลในยุคใหม่ จะมีลักษณะเด่นที่เน้นการประเมินพัฒนาการของนักเรียนและประสิทธิภาพของการเรียนการสอน การวัดและทดสอบจะครอบคลุมสภาพจริงและสอดคล้องกับการแสดงออกของนักเรียนทั้งกระบวนการและผลผลิต ซึ่งอาจจะประเมินจากการทำแฟ้มสะสม ผลงาน (portfolio) การบันทึกความเห็น การจัดทำรายงานผลงานที่ทำ นิทรรศการและโครงงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ทักษะการใช้ภาษา และวิชาต่างๆ รวมทั้งการทดสอบใน รูปแบบต่างๆ การประเมินผลในยุคใหม่ จะเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียน ครู และผู้ปกครอง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสมรรถภาพของผู้เรียนแต่ละคนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพเหมาะสมกับสังคมในทศวรรษหน้า โดยเฉพาะความสามารถในการสื่อสาร ความร่วมมือและการศึกษาอย่างมีวิจารณญาณ
ลักษณะสำคัญของการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริง มีดังนี้
1. ต้องเสริมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ของผู้เรียน
2. เน้นให้เห็นพัฒนาการอย่างเด่นชัด
3. ให้ความสำคัญกับจุดเด่นของผู้เรียน
4. ต้องตอบสนองกับหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลการเรียนรู้ตามสภาพที่เป็นจริง
5. มีพื้นฐานของสถานการณ์ที่เป็นชีวิตจริง
6. มีพื้นฐานบนการแสดงออกจริง
7. สอดคล้องกับการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ที่เป็นจริง
8. มีการจัดการเรียนการสอนโดยมีการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก
9. ต้องเน้นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
10. ตอบสนองได้กับทุกบริบท และเนื้อหาสาระ
11. ตอบสนองการเรียนรู้และความสามารถของนักเรียนอย่างกว้างขวาง
12. เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครอง ผู้สอนและผู้เรียน รวมทั้งบุคคลในวิชาชีพอื่นๆ
แนวทางการนำวิธีการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงไปใช้ในการเรียน การสอน
ในการนำวิธีการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงไปใช้ในการเรียนการสอน ผู้สอนควรดำเนินการดังนี้
1.ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงในการริเริ่มแนวคิดใหม่ๆ ในการประเมินผลการเรียนรู้ อาจเริ่มโดยการศึกษาเอกสาร เข้ารับการอบรม ดูวิดีทัศน์ ฟังเทปและศึกษาดูงานในโรงเรียนที่ดำเนินการแล้วจนเกิดความเข้าใจและชัดเจน จึงตัดสินใจเริ่มต้นดำเนินการ โดยทั่วไปครูมักจะมองภาพการสอน และการเรียนรู้ของเด็กกับการประเมินผลในลักษณะเป็นงานที่แยกออกจากกัน โดยเริ่มจากครูจะเป็นผู้ให้ความรู้ข้อมูลต่างๆ ให้นักเรียนได้เรียนรู้แล้วจึงทำการประเมินผล แต่ในกระบวนการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงซึ่งช่วยพัฒนาการสอนและการเรียนรู้นั้น จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน
2.เริ่มให้ผู้เรียนทำแฟ้มสะสมงานและใช้วิธีประเมินผู้เรียนที่หลากหลายในเนื้อหาสาระบางส่วนที่มีความมั่นใจ การประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงนั้น ครูสามารถนำไปใช้ได้กับทุกวิชาในชั้นเรียนและใช้ได้ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียนในทุกด้าน โดยครูควรจะเริ่มต้นอย่างน้อยในบางเนื้อหาวิชาที่ตนเองรู้สึกสบายใจและมั่นใจ เมื่อค้นพบว่ามีความชำนาญและสามารถพัฒนาได้อย่างดีแล้ว จึงขยายกว้างออกไปสู่เนื้อหาอื่นๆ ต่อไป
3.ปรับปรุงและพัฒนา เมื่อครูได้นำวิธีการประเมินตามสภาพที่เป็นจริงมาใช้สักระยะหนึ่ง ครูควรปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นระบบยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน
4.จัดทำตารางกำหนดเวลาในการสะท้อนความคิดเห็นเป็นรายบุคคลและเป็นรายกลุ่ม และรายจุดประสงค์โดยครูต้องให้เวลาที่จะทบทวนชิ้นงานที่ได้ประเมินจาก การบันทึก การสังเกต การสำรวจรายการ รายงานการประชุม โครงการของนักเรียน ผลผลิต แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
5.การนำกระบวนการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมในขั้นนี้ ผู้ประเมินต้องมีความรู้ในกระบวนการจัดการ โครงสร้างภายในของการประเมินผลจากสภาพที่เป็นจริง ความเข้าใจในข้อจำกัด และรับทราบถึงบทบาทของการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงในกระบวนการประเมินโดยรวมทั้งหมด
ในการนำวิธีการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงไปใช้ในการเรียนการสอน ครูควรจะ เริ่มต้นอย่างช้าๆ ด้วยความพอใจในเนื้อหาที่ตนรู้สึกว่าสบายใจและมั่นใจ ครูต้องพัฒนาความรู้ แก้ไขผลงานหรือวิธีการที่ได้ทำไปแล้ว วิธีการข้างต้นจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการ เพิ่มพูนทักษะได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ต้องมีการกำหนดเวลาให้ครูได้สะท้อนความคิดเห็นของตนเอง รวมทั้งมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ
สิ่งที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริง
ในการประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงนั้น มีข้อควรคำนึงถึงดังนี้
1.สิ่งที่ต้องการประเมิน ควรประกอบด้วย
การแสดงออกถึงผลของความรู้• ความคิด ความสามารถ ทักษะและเจตคติ
กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการทำงาน•
• ผลผลิต ผลงาน
2. ระยะเวลาที่ประเมิน ควรประเมินอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาตามสภาพที่เป็นจริง
3. เครื่องมือที่ใช้ประเมิน ควรประกอบด้วย
แบบประเมินผลงาน โครงการหรือโครงงาน•
แบบทดสอบในลักษณะต่างๆ•
แบบบันทึกย่อย แบบบันทึกแสดงความรู้สึก• แบบแสดงความคิดเห็น
แบบบันทึกการสังเกต•
แบบบันทึกการสัมภาษณ์•
• แบบบันทึกของผู้เรียน ครู ผู้ปกครองและกลุ่มเพื่อน
แฟ้มสะสมผลงาน•
• หลักฐาน ที่แสดงถึงร่องรอยจากการเรียน
4.ผู้ประเมิน ควรประกอบด้วย
• นักเรียนประเมินตนเอง
เพื่อน/กลุ่มเพื่อน•
ผู้ปกครอง• และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน
ครู•
กล่าวโดยสรุป การประเมินผลตามสภาพที่เป็นจริงเป็นการประเมินผลการกระทำ การแสดงออกของนักเรียนหลายๆ ด้านตามสภาพความเป็นจริง ทั้งในและนอกห้องเรียนหรือสถานที่อื่นๆ นอกโรงเรียน มีลักษณะเป็นการประเมินแบบไม่เป็นทางการ สามารถกระทำได้ตลอดเวลากับทุกสถานการณ์ มีการใช้ข้อมูลและวิธีการที่หลากหลายในการประเมิน เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจงาน การรายงานตนเองของนักเรียน บันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้องและการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน เป็นต้น
2. แฟ้มสะสมผลงาน (PORTFOLIO)

โลกในปัจจุบันเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารอันทันสมัยที่ได้รับรู้ในวันนี้ อาจกลับกลายเป็นข้อมูลที่เก่าและล้าสมัยได้ใน วันรุ่งขึ้น การจัดการเรียนการสอนในทุกวิชาและทุกระดับชั้น จึงไม่อาจคงหน้าที่ของการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป ทักษะการแสวงหาและจัดกระทำข้อมูล ทักษะการคิดในรูปแบบต่างๆ ความสามารถในการวางแผนการทำงานของตนเอง ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะความสามารถที่ครูจำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดแก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตัวและมีชีวิตอยู่ในโลกของความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข
แฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) เป็นนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษาที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน นอกจากจะนำมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการประเมินผลการเรียน การสอนตามสภาพที่เป็นจริง (authentic assessment) ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถใช้เป็น “เครื่องมือสำคัญ” ในการพัฒนาการเรียนการสอนของครู และพัฒนาทักษะความสามารถที่สำคัญแก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ความหมายของแฟ้มสะสมผลงาน
แฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) หมายถึง แหล่งรวมข้อมูลที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยข้อมูลดังกล่าว จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์สำหรับประเมินผลการทำงาน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการทำงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป การเก็บรวมรวมข้อมูลจึงควรครอบคลุมประเภทต่างๆ ที่เป็นหลักการสำคัญในการจัดทำแฟ้มสะสมงาน ประเภทของแฟ้มสะสมผลงาน
1. แฟ้มสะสมผลงานส่วนบุคคล (personal portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับตัวเจ้าของแฟ้ม เช่น พรสวรรค์ งานอดิเรก สัตว์เลี้ยง การท่องเที่ยว และการร่วมกิจกรรมกับชุมชน เป็นต้น
2. แฟ้มสะสมผลงานเชิงวิชาชีพ (professional portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงผลงานเกี่ยวกับอาชีพ เช่น แฟ้มสะสมงานเพื่อใช้ในการสมัครงาน แฟ้มสะสมงานเพื่อเสนอขอเลื่อนระดับ เป็นต้น
3. แฟ้มสะสมผลงานเชิงวิชาการ (academic portfolio) หรือแฟ้มสำหรับนักเรียน (student portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงผลงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ เช่น แฟ้มสะสมงานเพื่อใช้ประเมินผลการผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ แฟ้มสะสมงานเพื่อใช้ประกอบการประเมินผลปลายภาค/ปลายปี เป็นต้น
4. แฟ้มสะสมผลงานสำหรับโครงการ (project portfolio) เป็นแฟ้มที่แสดงถึงความพยายามหรือขั้นตอนการทำงานในโครงการหนึ่งๆ หรือในการศึกษาส่วนบุคคล (independent student) เช่น แฟ้มโครงงานวิทยาศาสตร์ ในแฟ้มประกอบด้วยภาพของวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้และแสดงขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินงานจนได้ผลผลิตที่ต้องการ เป็นต้น แม้ว่าแฟ้มสะสมผลงานจะสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภทก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ การจัดทำแฟ้มสะสมงานมักจะอยู่ในประเภทแฟ้มสะสมผลงานส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ในการศึกษาก็มักจะกระทำเฉพาะแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนเท่านั้น การจัดทำแฟ้มสะสมงานประเภทอื่นๆ ยังไม่ปรากฏแพร่หลายนัก
แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน (Student Portfolio)

ปัจจุบันการเรียนการสอนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เนื่องจากหลักสูตรใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการเน้นครูเป็นศูนย์กลางมาเป็นการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และจากการเรียนเป็นส่วนย่อยมาเป็นการเน้นบูรณาการทักษะ และผสมผสานทักษะหลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน จึงทำให้การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการทดสอบแบบอัตนัยหรือปรนัยในระหว่างการเรียนหรือเมื่อสิ้นสุดการเรียนแต่เพียงอย่างเดียวที่เคยทำกันมาแต่เดิม ไม่สามารถครอบคลุมการประเมินผลการเรียนการสอนได้ทั้งหมด
แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน จึงเป็นวิธีการใหม่อย่างหนึ่งที่ครู อาจารย์ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ได้นำมาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะแฟ้มสะสมงานอาศัยหลักการประเมินร่วมกันระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน ทั้งในด้านการเก็บรวบรวม การจัดระบบ และการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อสนเทศที่สอดคล้องกับชีวิตจริงทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน จึงเป็นการประเมินที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกระดับอายุ สามารถแสดงผลสำเร็จของตนเอง โดย ผู้เรียนสามารถเลือกใช้วิธีการและตัดสินใจเลือกผลงาน มีอิสระในการสร้างสรรค์ คิดค้นกลวิธีและสะท้อนภาพความคิดของตนเองออกมาได้อย่างสมบูรณ์ แฟ้มสะสมงานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สะท้อนความเชื่อว่าผู้เรียนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง และมี หลักฐานยืนยันว่าตนเองเกิดการเรียนรู้ ก้าวหน้า จนบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ นอกจากนี้แฟ้มสะสมผลงานยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการประเมินผลที่มีการปรับเปลี่ยนอย่าง ต่อเนื่อง (dynamic assessment) จนสามารถสะท้อนภาพการสอนของครู ร่องรอยการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนและสรุปกิจกรรมสำคัญที่นักเรียนได้ปฏิบัติจริงมาตลอดปี สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างครูกับนักเรียนแต่ละคน ครูกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง พ่อแม่ ผู้บริหารโรงเรียน เป็นต้น

ความหมายของแฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน คือ การเก็บรวบรวมผลงานของนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกโดยตัวนักเรียนเอง (หรือภายใต้การแนะนำของครู) มาสะสมไว้ในแฟ้มหรืออุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเป็นระบบ และมีจุดมุ่งหมาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่แสดงถึงความพยายาม เจตคติ แรงจูงใจ ความเจริญงอกงาม ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ เนื้อหาวิชาต่างๆ ของนักเรียนให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทราบ โดยที่ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างและประเมินแฟ้มสะสมผลงานด้วยกัน แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนจะเน้นการประเมินผลย่อย (formative evaluation) มากกว่าการประเมินผลสรุปรวม (summative evaluation) ดังนั้น แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนจึงต้องหลากหลายและเพียงพอเพื่อใช้ในการประเมิน เพื่อปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียนให้ดีขึ้น ดังนั้นการเก็บรวบรวมผลงานซึ่งบรรจุไว้ในแฟ้มสะสมผลงาน ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. นักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการคัดเลือกรายการต่างๆ ในแฟ้มสะสมผลงาน
2. ต้องมีเกณฑ์ในการคัดเลือก ตัดสินผลงาน
3. มีหลักฐานแสดงผลการประเมินตนเอง

องค์ประกอบของแฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
แฟ้มสะสมผลงานนักเรียนเป็นการเก็บรวบรวมผลงานของนักเรียนอย่างมีระบบ ในการทำแฟ้มสะสมผลงานนั้นแฟ้มอาจจะมีรูปร่างอย่างไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเลือกใช้อะไรเป็นภาชนะเก็บสะสม โดยยึดหลักของการใช้สะดวกและมีประสิทธิภาพ แฟ้มสะสมผลงานจึงควรประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
ส่วนที่ 1 คำนำ สารบัญ ประวัติส่วนตัว ผลการเรียนแต่ละวิชา รายการ ชิ้นงาน ผลงานที่ครูและนักเรียนร่วมกันคัดเลือก
ส่วนที่ 2 รายละเอียดของผลงานแต่ละชิ้นและความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อผลงาน แต่ละชิ้นที่อยู่ในแฟ้ม
ส่วนที่ 3 เกณฑ์การตัดสินแฟ้มสะสมผลงาน และข้อมูลการประเมินโดยครู ตนเอง เพื่อน ผู้ปกครอง และผู้สนใจอื่นๆ รวมทั้งภาคผนวก (ถ้ามี)

ประโยชน์ของแฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
แฟ้มสะสมงานมีประโยชน์ในการแสดงหรือนำเสนอผลงานของนักเรียน ซึ่งมีลักษณะที่สอดคล้องกับความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน แฟ้มสะสมงานจึงสามารถใช้ประโยชน์หลายประการ คือ
1. ส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพเป็นรายบุคคล ในการทำแฟ้มสะสมงานนั้นควรให้นักเรียนจัดทำแฟ้มด้วยตนเอง ดังนั้นแต่ละคนจึงสามารถเลือกทำงานแต่ละชิ้นได้อย่างมีอิสระตามความสนใจและความสามารถของนักเรียนและนักเรียนสามารถนำผลงานมาปรับเปลี่ยนให้ดียิ่งขึ้นได้ การทำแฟ้มสะสมงานจึงเหมาะสำหรับส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล
2. สะท้อนความสามารถรวมออกมาเป็นผลงาน และการสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการทำงานของนักเรียนได้ทุกขั้นตอน
3. ค้นหาจุดเด่นของนักเรียน แบบทดสอบ ส่วนมากใช้ในการสอบเพื่อหาข้อผิดพลาด ทำให้นักเรียนไม่ชอบการสอบและพยายามหลบเลี่ยงการสอบหรือทุจริตในการสอบ แฟ้มสะสมผลงาน จะทำให้ครูสามารถหาจุดเด่นของนักเรียนมากกว่าจุดด้อย และนักเรียนสามารถเลือก ตัดสินใจว่าจะใช้งานชิ้นที่ดีที่สุดของตนในการประเมิน ดังนั้น นักเรียนจึงมีความสุขในการทำแฟ้มสะสมงานของตนมากกว่าการสอบ
4. ใช้ในการแจ้งผลสำเร็จของนักเรียนให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ รวมทั้งสามารถนำไปใช้ในการอภิปรายความก้าวหน้าของนักเรียนกับผู้ปกครองได้ การประเมินแฟ้มสะสมงานจะมีลักษณะเปิดเผยตรงไปตรงมา ซึ่งต่างจากการใช้แบบทดสอบที่ครูต้องปกปิดเป็นความลับ อยู่เสมอ
5. ใช้ประเมินพัฒนาการของนักเรียน เนื่องจากการเก็บสะสมผลงานนั้น งานทุกชิ้นที่พิจารณาคัดเลือกไว้แล้วต้องเขียนชื่อ วัน เดือน ปี ไว้ เพื่อประเมินความเจริญงอกงามหรือพัฒนาการของนักเรียนได้

จุดเด่นของการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน มีจุดเด่นที่สำคัญดังต่อไปนี้
1.เพิ่มแรงจูงใจในการเรียนของนักเรียน
2.พัฒนาทักษะทางวิชาการระดับสูงแก่นักเรียน
3.พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมเพื่อให้งานสำเร็จ
4.เป็นการปรับเปลี่ยนการเรียนรู้จากนามธรรมไปสู่รูปธรรม
5.แสดงพัฒนาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่องและนักเรียนได้ปรับปรุงงานตลอดเวลา
6.วัดความสามารถของนักเรียนได้หลายด้าน
7.เป็นกิจกรรมที่สอดแทรกอยู่ในสภาพการเรียนประจำวันที่มีประโยชน์ต่อชีวิต นักเรียนในสภาพชีวิตจริง
8.นักเรียนมีความตระหนักในการมีส่วนร่วมในการเรียน การแก้ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูลหรือการเก็บรวบรวมข้อมูล ในการสอบปกติถ้าไม่สอนเรื่องเหล่านี้โดยตรงแล้ว นักเรียนจะมีโอกาสเรียนรู้เรื่องนี้ได้น้อยมาก
9.นักเรียนได้มีโอกาสในการแสดง สร้างสรรค์ ผลิตหรือทำงานด้วยตนเอง

การใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
การใช้แฟ้มสะสมผลงาน นอกจากนำมาใช้สำหรับประเมินผลนักเรียนโดยตรงแล้ว ครูผู้สอนยังสามารถนำแฟ้มสะสมผลงานมาใช้ในกิจกรรมอย่างอื่นได้ดังต่อไปนี้
1นำมาใช้สอนนักเรียนให้รู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง และสะท้อนให้เห็นความคิดของนักเรียน
2.กระตุ้นให้นักเรียนเกิดทักษะในการวิเคราะห์และตัดสินใจได้ หลังจากที่นักเรียนได้พิจารณาทบทวนเลือกงานของตนไว้ในแฟ้มสะสมผลงานแล้ว โดยพยายามให้นักเรียนนึกถึงคำถามต่างๆ เช่น
• อะไรส่งเสริมให้งานที่นักเรียนทำกลายเป็นงานชิ้นเอก
• ผลงานชิ้นนี้มีความแตกต่างจากงานชิ้นอื่นๆ ที่ทำอย่างไรบ้าง
• ผลงานชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้าง
ฯลฯ
3.ให้นักเรียนพิจารณาทบทวนแฟ้มในแง่ของการผลิตและการให้ข้อสนเทศต่างๆ โดยการนำแฟ้มมาอภิปรายกับนักเรียนที่เป็นเจ้าของรวมทั้งคนอื่นๆ เพื่อช่วยให้นักเรียนมองเห็นความก้าวหน้าของตนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถนำไปแสดงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนขณะนั้น และยังสามารถนำมากำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ในอนาคตได้ ตัวนักเรียนเองอาจนำแฟ้มของตนไปอภิปรายกับเพื่อนๆ เพื่อประกาศถึงความสำเร็จ และเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผลงานในอนาคต
4.นักเรียนสามารถนำแฟ้มของตนเองไปแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ปกครองของตน ทำให้ผู้ปกครองทราบถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความต้องการของนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม
5.เมื่อสิ้นปีการศึกษา ครูสามารถนำแฟ้มในวิชาต่างๆ ของนักเรียนแต่ละคนมาพิจารณาทบทวนร่วมกันกับนักเรียนว่า จะเลือกผลงานชิ้นใดเพียงบางชิ้นเป็นตัวแทนของผลงานทั้งหมด เพื่อนำมาเก็บไว้ในแฟ้มสะสมผลงานระดับโรงเรียน ซึ่งสามารถใช้แสดงถึงระดับความเจริญงอกงาม ผลงานที่ยอดเยี่ยม และผลสัมฤทธิ์สูงสุดของนักเรียนคนนั้นได้ ผลงานที่เก็บรวบรวมเพิ่มในแต่ละปีการศึกษา จึงเป็นเสมือนประตูที่เปิดให้เห็นถึงความคิดและผลสัมฤทธิ์ตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนบางแห่งจึงนำแฟ้มระดับโรงเรียนมารวมกันและมอบให้นักเรียนเมื่อต้องย้ายโรงเรียนกลางคันหรือตอนที่เรียนจบแล้ว
6.ผลงานในแฟ้มสะสมผลงาน บางครั้งอาจไม่นำมารวมไว้ในแฟ้มระดับโรงเรียน แต่จะให้นักเรียนนำกลับไปบ้านให้ผู้ปกครองและตัวนักเรียนเก็บไว้ แฟ้มสะสมงานที่เก็บผลงานเหล่านี้ จะเป็นแฟ้มสะสมผลงานของผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจร่วมกันระหว่างนักเรียนและผู้ปกครอง

ขั้นตอนการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน

การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานมีขั้นตอนสำคัญ 10 ขั้นตอนดังนี้
1. การวางแผนการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน
2. การเก็บรวบรวมผลงาน
3. การคัดเลือกงานหรือหลักฐาน
4. การแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกต่อผลงาน
5. การตรวจสอบความสามารถของตนเอง
6. การประเมินผลงาน
7. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับผลงาน
8. การปรับเปลี่ยนผลงาน
9. การจัดระบบของแฟ้มสะสมผลงาน
10. การจัดนิทรรศการแสดงผลงานนักเรียน
ในการทำแฟ้มสะสมผลงานนั้น อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางขั้นตอนได้ตามความเหมาะสม ขั้นตอนที่เป็นหลักมี 4 ขั้นตอน คือ การรวบรวมผลงานหรือหลักฐาน การคัดเลือกผลงาน การแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึก และการประเมินผลงาน ส่วนขั้นตอนอื่นอาจยุบรวมกันได้ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์อาจจะดำเนินการช่วงการจัดนิทรรศการผลงานนักเรียน เป็นต้น
ขั้นตอนการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน

ขั้นที่ 1 วางแผนการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน

ขั้นตอนแรกของการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน คือ การวางแผน ซึ่งต้องกระทำทั้งการเตรียมครูและนักเรียน
1.1 การเตรียมตัวครู
ครูควรเตรียมตัวก่อนทำแฟ้มสะสมผลงานดังนี้
ศึกษาหลักสูตร• ศึกษาเกี่ยวกับจุดประสงค์ เนื้อหา และวิธีการประเมินผล
ศึกษาคู่มือครู•
• ทำตารางวิเคราะห์เนื้อหา โดยจัดทำโครงการสอนซึ่งระบุสัปดาห์ที่สอน เนื้อหา จุดประสงค์ กิจกรรม และผลงานที่นักเรียนจะสร้างขึ้นจากการเรียนแต่ละครั้ง และกรณีที่ต้องการประเมินจุดประสงค์การเรียนรู้ ครูอาจวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผลงานกับจุดประสงค์เหล่านั้นด้วย
ขั้นตอนในการเตรียมตัวก่อนทำแฟ้มสะสมผลงานมีดังนี้
(1) พิจารณาและตัดสินใจว่าจะทดลองหรือเริ่มทำแฟ้มสะสมงานนักเรียน ในรายวิชาใด
(2) วิเคราะห์หลักสูตรและจัดทำแผนการสะสมชิ้นงาน โดยเริ่มพิจารณาและวิเคราะห์จุดประสงค์ของรายวิชา ที่จะทดลองทำแฟ้มสะสมผลงานนั้นมีจุดประสงค์ที่จะต้องวัดตลอดปีการศึกษาจำนวนกี่จุดประสงค์ แล้ววิเคราะห์ต่อไปว่าจะต้องวัดในแต่ละภาคเรียนจำนวนกี่จุดประสงค์และประเมินด้วยจุดประสงค์ใดบ้าง เช่น วิชาคณิตศาสตร์ชั้น ป.1 มีจำนวน 13 จุดประสงค์ และจะต้องทำการวัดในแต่ละภาคเรียนทั้ง 13 จุดประสงค์ แต่จะแตกต่างกันที่บทเรียนหรือเนื้อหาที่จะสอนในแต่ละภาคเรียน
(3) วิเคราะห์ว่าในแต่ละจุดประสงค์ที่จะวัดนั้นสัมพันธ์กับเนื้อหาในบทเรียนใดบ้าง
(4) วิเคราะห์ในแต่ละบทเรียนว่า ถ้าเราสอนหรือจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว นักเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้างที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ อาจจะเป็นแบบฝึกหรือแบบทดสอบต่างๆ และวางแผนต่อไปว่ากิจกรรมที่กำหนดแต่ละชนิดนั้นจะกำหนดชิ้นงานให้นักเรียนทำกี่ชิ้นงาน และให้นักเรียนคัดเลือกเข้าแฟ้มสะสมผลงานกี่ชิ้น ในระยะเริ่มแรกไม่ควรกำหนด กิจกรรมและจำนวนชิ้นงานในแต่ละกิจกรรมมากเกินไป
(5) วิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหาในบทเรียนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
(6) เน้นให้นักเรียนและครูได้มีส่วนร่วมในการประเมินตามความพร้อมของนักเรียน
1.2 การเตรียมตัวนักเรียน
ก่อนทำการสอน ครูแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับจุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรม เกณฑ์การประเมินว่ามีจุดประสงค์การเรียนรู้อะไรบ้าง ครูจะดำเนินการสอนอย่างไร นักเรียนจะต้องปฏิบัติกิจกรรมอะไรบ้าง การวัดผลและประเมินผลจะมีวิธีการอย่างไร นักเรียนจะต้องจัดทำแฟ้มสะสมผลงานอย่างไร นักเรียนต้องปฏิบัติงานอะไรบ้าง จะสอบกี่ครั้ง นักเรียนจะต้องมีความรู้ความสามารถในระดับใดจึงจะผ่านเกณฑ์ เป็นต้น

ขั้นที่ 2 เก็บรวบรวมผลงานหรือหลักฐาน

การเก็บรวบรวมผลงานเป็นขั้นตอนที่นักเรียนนำผลงานเก็บรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสม ผลงาน ซึ่งควรพิจารณาสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
2.1 ผลงานที่เก็บรวบรวมไว้นั้นจะเก็บไว้ที่ใด เช่น จัดใส่แฟ้ม ใส่ซอง ตู้ ชั้นวางของ เป็นต้น
2.2 การจัดเก็บผลงานจะดำเนินการอย่างไร เช่น แยกตามวัตถุประสงค์ ประเภทของงาน เป็นต้น
2.3 แผนหรือระยะเวลาในการจัดเก็บ การคัดเลือก ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ของการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน เป็นอย่างไร

แนวการจัดเก็บผลงาน
การจัดเก็บผลงานสามารถทำได้ 6 วิธีดังนี้
1.จัดเก็บตามแบบแผนแนวทางที่มีผู้กำหนดไว้แล้ว เช่น กรณีใช้แฟ้มเพื่อสมัครงานหรือเพื่อเปลี่ยนสายงาน หน่วยงานนั้นๆ อาจกำหนดไว้แล้วว่าผู้สมัครจะต้องนำเสนอแฟ้มสะสมผลงานเรื่องใดบ้างในการประกอบการพิจารณาคัดเลือก เป็นต้น
2.เก็บตามลำดับ วัน เวลา ที่สร้างผลงานขึ้นมา
3.จัดเก็บตามลำดับความซับซ้อนของผลงาน โดยเริ่มต้นแฟ้มด้วยงานง่ายๆ ไปสู่ ผลงานความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ เช่น นักเรียนต้องการแสดงพัฒนาการของทักษะหรือความสามารถในการเขียนคำคล้องจองในแฟ้มเริ่มต้น โดยเสนอคำคล้องจองชิ้นแรกที่นักเรียนเขียนในตอนต่อไปก็นำเสนอคำคล้องจองที่เขียนขึ้นในระยะหลังๆ เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการด้านการเขียนของนักเรียน
4.จัดเก็บตามพรสวรรค์ ทักษะ หรือเนื้อหา เช่น แฟ้มสะสมงานเกี่ยวกับงานอดิเรก สิ่งที่จัดไว้จำแนกตามประเภทของงานอดิเรก เช่น งานศิลปะ การประดิษฐ์คิดค้น การเรียบเรียง เป็นต้น
5.จัดเก็บตามหัวเรื่องที่ต้องการนำเสนอ เช่น แฟ้มสะสมผลงานเรื่องสิ่งแวดล้อมใน ชุมชน อาจจัดผลงานเป็นหัวเรื่องย่อย คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โครงการปรับปรุง สิ่งแวดล้อมในชุมชน ผลการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เป็นต้น
6.จัดเก็บในลักษณะผสมผสานโดยนำวิธีการข้างต้นมาจัดในแฟ้มเดียวกัน เช่น ต้องการจัดทำแฟ้มสะสมเกี่ยวกับพรสวรรค์ของตน การจัดเก็บควรเริ่มต้นโดยจัดแบ่งผลงานตามหัวเรื่อง เช่น การบริการสังคม การเตรียมเข้าสู่งานอาชีพและการใช้เวลาว่าง ต่อจากนั้นจึงจัดระบบในแต่ละหัวเรื่องตามพรสวรรค์
ผลงานที่รวบรวมไว้นั้นต้องเป็นสิ่งที่สามารถจัดเก็บได้ ซึ่งมีหลายลักษณะ เช่น งานเขียนต่างๆ เทปบันทึกเสียง คะแนนสอบ แบบฝึกหัด แบบสังเกต แบบบันทึก แบบรายงาน แผ่นบันทึกข้อมูล ภาพถ่าย สไลด์ วิดีทัศน์ เป็นต้น
ในขั้นตอนนี้ นักเรียนเก็บผลงานทุกชิ้น โดยก่อนที่จะเก็บควรทำการประเมินผลงานนั้นก่อน กรณีพบข้อบกพร่องก็ควรทำการแก้ไขปรังปรุง นอกจากนี้นักเรียนควรจัดทำทะเบียนคุมผลงานเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระเบียบ

ขั้นที่ 3 คัดเลือกผลงาน

หลังการเก็บรวบรวมผลงานต่างๆ ไประยะหนึ่ง ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผลงานที่แสดงถึงความสามารถของนักเรียน ตามจุดประสงค์ของการประเมินผลงานที่เลือกมานั้นต้องเป็นชิ้นงานที่ดีที่สุด ครอบคลุมเนื้อหา วัตถุประสงค์ ตามที่ได้วิเคราะห์ตกลงวางแผนกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถอธิบายความสามารถที่แท้จริงของนักเรียนให้ถูกต้องมากที่สุด
โดยหลักการแล้วผู้ที่คัดเลือกผลงานควรเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการประเมิน ในการประเมินตามจุดประสงค์การเรียนรู้นั้น นักเรียนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประเมินโดยตรง ดังนั้นนักเรียนจึงควรเป็นผู้ที่คัดเลือกผลงานด้วยตนเอง
การคัดเลือกผลงานหรือหลักฐานควรกระทำหลังจากที่มีงานไม่น้อยกว่า 4-5 ชิ้น หรือหลังจากเรียนไปแล้วประมาณ 1 เดือน ในการคัดเลือกนั้นในภาคเรียนหนึ่งๆ อาจคัดเลือก ผลงานประมาณ 2-4 ครั้ง โดยในการเลือกครั้งแรกเป็นการเลือกผลงานที่ดีที่สุดที่มีอยู่มาเก็บไว้ในแฟ้มหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า แฟ้มสะสมผลงานดีเด่น หลังจากการเลือกครั้งแรกประมาณ 1 เดือน หรือมีชิ้นงานเพิ่มขึ้น 4-5 ชิ้น นักเรียนสามารถทบทวนดูว่า ผลงานที่เลือกไว้กับผลงานใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น ชิ้นใดเป็นชิ้นที่ดีที่สุดก็ทำการเลือกมาเก็บไว้ในแฟ้มผลงานที่คัดเลือกแล้ว (outstanding portfolio)

ขั้นที่ 4 แสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกต่อผลงาน

การแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกต่อผลงาน เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการคัดเลือกชิ้นงาน ในการนี้นักเรียนจะได้คิดย้อนกลับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานหรือการเรียนของตนเอง ซึ่งนักเรียนจะได้ใช้ความคิดระดับสูงในการวิเคราะห์และพิจารณาผลงานของตน นักเรียนจะได้มีโอกาสประเมินผลงานของตนอย่างไม่เป็นทางการ
ในการแสดงความคิดนั้น ควรเริ่มต้นโดยการให้นักเรียนตอบคำถามนำของครูในใจหรือโดยการพูด ต่อจากนั้นจึงให้เขียนสะท้อนความคิดออกมา ดังตัวอย่างคำถามต่อไปนี้
1.ในการทำงานชิ้นนี้ นักเรียนใช้เวลานานเท่าใด
2.ให้บรรยายกระบวนการในการทำงานนี้ตามคำถามในตัวอย่างต่อไปนี้
2.1ได้แนวคิดในการทำงานนี้มาจากไหน
2.2นักเรียนใช้ยุทธศาสตร์อะไรในการเรียนรู้เรื่องนี้และเขียนผลงานชิ้นนี้
2.3 นักเรียนมีปัญหาอะไรในขณะเขียนผลงานฉบับร่างที่ 1
2.4นักเรียนใช้วิธีการใดในการปรับปรุงผลงานของนักเรียน
3.ในการวิจารณ์ของกลุ่ม นักเรียนเกิดความรู้สึกอย่างไร
เริ่มต้นโดยการให้กลุ่มวิจารณ์ผลงานของนักเรียน จากนั้นนักเรียนแสดงความรู้สึกต่อคำวิจารณ์ เช่น
3.1 นักเรียนเห็นด้วยหรือไม่กับสิ่งที่กลุ่มวิจารณ์
3.2 นักเรียนได้ทำอะไรบ้างกับสิ่งที่กลุ่มวิจารณ์
5.เมื่อส่งให้ครูประเมิน นักเรียนต้องการให้ครูพิจารณาที่จุดใด
- นักเรียนต้องการให้ครูถามอะไรบ้าง
6.นักเรียนจะให้คะแนนงานชิ้นนี้เท่าใด เพราะเหตุใด
7.เหตุผลที่นักเรียนเลือกงานชิ้นนี้เพราะอะไร
ขั้นที่ 5 ตรวจสอบความสามารถของตนเอง
การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ตรวจสอบความสามารถของตนเองจากผลงาน ตลอดจนตรวจสอบคุณลักษณะต่างๆ ของนักเรียน เช่น นิสัยในการทำงาน ทักษะการทำงาน ทักษะทางสังคมและความสามารถในการจัดการ สิ่งที่ตรวจสอบในขั้นตอนนี้ เป็นทั้งการตรวจสอบตามจุดประสงค์การเรียนรู้และคุณลักษณะส่วนตัวของ นักเรียน
วิธีการตรวจสอบความสามารถของตนเอง ควรพิจารณาตามเกณฑ์ย่อยๆ ซึ่งกำหนด ขึ้นมา เช่น เรื่องนิสัยในการทำงาน อาจกำหนดเกณฑ์ย่อยในเรื่องการทำงานเสร็จทันเวลา การขอความช่วยเหลือเมื่อมีความจำเป็น เป็นต้น
การตรวจสอบความสามารถของตนเองอีกลักษณะหนึ่ง คือ การวิเคราะห์จุดเด่น-จุดด้อยในการทำงานหรือเกี่ยวกับผลงานของตนเอง เช่น เดิมนักเรียนเขียนไม่เป็นระเบียบ ไม่สวยงามซึ่งเป็นจุดด้อย แต่ปัจจุบันมีจุดเด่นกล่าวคือ เขียนได้ดีมากขึ้น เป็นต้น

ขั้นที่ 6 ประเมินผลงาน

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน ทั้งการประเมินระหว่างภาคเรียนและการประเมินปลายภาคเรียน เพราะเป็นการตีค่าหรือสรุปถึงคุณภาพหรือความสามารถของนักเรียน
การประเมินระหว่างภาคเรียนหรือการประเมินจุดประสงค์การเรียนรู้นั้น ควรเริ่มต้นจากการวิเคราะห์เกณฑ์ประเมินย่อยๆ ของแต่ละจุดประสงค์ เช่น จุดประสงค์การเรียนรู้วิชาภาษาไทย ป.5-6 ระบุว่า “คัดลายมือถูกต้อง รวดเร็ว เป็นระเบียบและสวยงาม” อาจกำหนดเกณฑ์การประเมินย่อยๆ เช่น เขียนถูกต้อง เขียนสวยงาม ไม่มีรอยลบสกปรก จัดระเบียบตัวอักษรได้ดี เขียนเสร็จทันเวลาที่กำหนดให้ เป็นต้น ต่อจากนั้นจึงทำการประเมินงานเขียนของนักเรียนตามเกณฑ์ย่อย เพื่อตัดสินการผ่านจุดประสงค์ดังกล่าว
ส่วนการประเมินปลายภาคเรียนนั้น อาจใช้แฟ้มสะสมผลงานช่วยในการประเมินวัตถุ-ประสงค์ภาคปฏิบัติและด้านจิตพิสัยเป็นหลัก ในการนี้ครูและนักเรียนควรตกลงกันตั้งแต่ต้น ภาคเรียนว่าจะใช้แฟ้มสะสมผลงานในการประเมินเมื่อใด งานหรือหลักฐานที่นักเรียนจะนำเสนอในช่วงปลายภาค/ปลายปีการศึกษามีอะไรบ้าง ตลอดจนแนวทางการจัดเก็บ การคัดเลือก และการประเมินผล
ในขั้นตอนนี้ ควรมีการสร้างเกณฑ์สำหรับประเมินแฟ้มสะสมผลงานโดยรวม ทั้งรูปแบบ การจัดระบบเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ ของผลงานในแฟ้มด้วย

ในการประเมินนั้น เกณฑ์เป็นหัวใจของการประเมิน จึงต้องชัดเจนและสะท้อนความสามารถของนักเรียนได้ ในการสร้างเกณฑ์สำหรับตัดสินแฟ้มสะสมผลงาน ครูจำเป็นต้องมีความชัดเจนในเรื่องต่อไปนี้
1.การประเมินภาพรวมหรือแยกเป็นรายชิ้น
2.คุณลักษณะใดบ้างที่สามารถสะท้อนภาพรวมของจุดประสงค์การประเมิน
3.การให้น้ำหนักชิ้นงาน
4.บทบาทของการประเมินตนเอง
5.บทบาทของการประเมินโดยเพื่อน
6.บทบาทของการประเมินโดยครู
7.บทบาทของการประเมินโดยผู้ปกครอง
8.บทบาทของการประเมินโดยผู้สนใจ

ขั้นตอนการจัดทำเกณฑ์การประเมินผลงาน มีดังนี้
1.กำหนดนิยามคุณภาพ
1.1 กำหนดทักษะที่ต้องการวัด
1.2 กำหนดนิยามตัวอย่าง
2.เลือกมาตรฐานที่ใช้วัด
2.1 เชิงปริมาณ
2.2 เชิงคุณภาพ
3.กำหนดระดับคุณภาพงาน
ระดับ 4 หมายถึง งานยอดเยี่ยม
ระดับ 3 หมายถึง งานดี
ระดับ 2 หมายถึง งานพอใช้
ระดับ 1 หมายถึง งานต้องปรับปรุง
4. กำหนดเกณฑ์ในการตัดสินระดับคุณภาพแต่ละระดับ

ในการกำหนดเกณฑ์การประเมินนั้น ควรเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วม โดยในระยะแรกควรเริ่มคิดเกณฑ์ง่ายๆ เป็นรูปธรรม และจำนวนน้อยข้อก่อน หากคล่องหรือเกิดความชำนาญจึงจะเพิ่มความคิดในระดับที่สูงและเพิ่มจำนวนข้อให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถครอบคลุมการประเมินผลงานให้มากที่สุด

ขั้นที่ 7 แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับผลงาน

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในขั้นตอนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รับฟัง ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากเพื่อนนักเรียน ผู้ปกครองและครูท่านอื่น
วิธีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับผลงานต่างๆ นั้น สามารถกระทำได้หลาย รูปแบบ เช่น การสนทนาระหว่างนักเรียนกับผู้เกี่ยวข้อง การส่งแฟ้มสะสมผลงานให้ผู้เกี่ยวข้องเสนอแนะ และการจัดประชุมพิจารณาแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน เป็นต้น
ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะต้องเตรียมคำถามสำคัญไว้ถามผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนมากที่สุด เช่น ให้แสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกต่อผลงานจะปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร เป็นต้น

ขั้นที่ 8 ปรับเปลี่ยนผลงาน

เนื่องจากการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน ต้องการให้นักเรียนแสดงผลงานหรือหลักฐานมากที่สุดในการแสดงความสามารถของตน ดังนั้น หลังจากการเลือกชิ้นงานผ่านไประยะหนึ่งและนักเรียนสร้างงานเพิ่มเติม จึงควรให้นักเรียนได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนผลงานหรือหลักฐานโดยการเลือกชิ้นงานที่ดีเดิม มาเก็บไว้ในแฟ้มสะสมผลงาน เพื่อให้แฟ้มสะสมผลงานมีชิ้นงานที่ดี ทันสมัย น่าสนใจ และตรงตามจุดประสงค์ที่ต้องการประเมิน
ครูและนักเรียนควรปรับเปลี่ยนชิ้นงานตามแผนที่กำหนดไว้ เช่น พิจารณาปรับเปลี่ยนหลังจากที่มีงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 4-5 ชิ้น หรือเวลาผ่านไป 3-4 สัปดาห์ เป็นต้น

ขั้นที่ 9 จัดระบบแฟ้มสะสมผลงาน

ขั้นตอนการจัดระบบแฟ้มสะสมผลงาน เป็นการจัดองค์ประกอบต่างๆ ในแฟ้มให้เป็นระเบียบ มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี

องค์ประกอบสำคัญของแฟ้มสะสมผลงานมีดังต่อไปนี้
1. ส่วนนำ ประกอบด้วย ปก ข้อมูลส่วนตัวของนักเรียน ข้อมูลผลการเรียน สารบัญ
2. ส่วนเนื้อหาของแฟ้มสะสมงาน เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดของผลงานและ ความคิดเห็นของตนเองต่อผลงานที่ได้เลือก อาจจัดจำแนกตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ หรือลักษณะธรรมชาติของงานก็ได้
3. เกณฑ์การตัดสินผลงาน ผลการประเมินครู ของตนเอง และของเพื่อนรวมทั้งภาคผนวก (ถ้ามี)
ในการจัดระบบแฟ้มสะสมผลงาน นักเรียนจะมีโอกาสนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ตลอดจนสะท้อนบุคลิกภาพของตนออกมาอย่างเต็มที่ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ออกแบบตกแต่งปก ครูมีบทบาทในการจัดเตรียมกระดาษ สี อุปกรณ์ต่างๆ ให้นักเรียน ตกแต่ง จัดวางหน้ากระดาษ และองค์ประกอบต่างๆ โดยอิสระ

ขั้นที่ 10 จัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักเรียน

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจและชื่นชมในผลงาน หรือความสามารถของตน
การจัดนิทรรศการผลงานของนักเรียน เป็นการนำแฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนทุกคนมานำเสนอร่วมกัน และเปิดโอกาสให้นักเรียน ครู ผู้ปกครองตลอดจนชุมชนได้มาชื่นชมความสำเร็จของนักเรียน โดยเฉพาะการเชิญผู้ปกครองและชุมชนมาร่วมงานนั้น จัดเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่างโรงเรียนและชุมชน
นักเรียนควรเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการจัดนิทรรศการทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดสถานที่ การเชิญผู้เกี่ยวข้องชมนิทรรศการ การประชาสัมพันธ์ การจัดนิทรรศการต่างๆ จนถึงการประเมินผล

ข้อเสนอแนะในการดำเนินการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน

การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียนอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับครูและนักเรียน ดังนั้นในการเริ่มดำเนินการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียนนั้น ผู้เขียนขอเสนอแนะดังต่อไปนี้
1. ควรจะเริ่มศึกษาเรื่องการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เข้ารับการอบรม เข้าร่วมการสัมมนา การศึกษาจากตำรา การปรึกษาหารือกับผู้ที่มีความรู้ ผู้มีประสบการณ์หรือผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
2. ไม่ควรคิดว่าการจัดทำแฟ้มสะสมผลงานนักเรียนเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ทั้งครูและ นักเรียน แต่ให้คิดว่าการจัดทำแฟ้มสะสมผลงานนั้นเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนอย่างมาก เพราะการสะสมผลงานของนักเรียนอย่างเป็นระบบ จะทำให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน และให้นักเรียนฝึกใช้ความคิดระดับสูง
3. ควรเริ่มทดลองทำการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียนเพียง 1 วิชา หรือ 1 กลุ่มประสบการณ์หรือรายวิชาที่ตนเองถนัดที่สุดในความรับผิดชอบ ซึ่งถ้าดำเนินการแล้วเริ่มเกิดความเข้าใจ ความชำนาญทั้งครูผู้สอนและนักเรียน จึงจะเพิ่มจนครบทุกวิชา กลุ่มประสบการณ์รายวิชา
4. การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานนักเรียนนั้น ครูต้องคำนึงถึงประโยชน์ของแฟ้มสะสมผลงานและคำนึงถึงขั้นตอนสำคัญของการจัดทำแฟ้มสะสมงาน 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นการเก็บรวบรวมผลงาน ขั้นการคัดเลือกผลงาน ขั้นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความรู้สึกต่อผลงาน และขั้นการประเมินผลงาน ส่วนขั้นตอนอื่นสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน และสิ่งที่สำคัญ คือ ไม่ควรกังวลว่าจัดทำแล้วจะถูกหรือผิด
5. วัสดุ อุปกรณ์ที่นำมาทำแฟ้มสะสมผลงานนักเรียนนั้น ให้เน้นการใช้วัสดุในท้องถิ่นที่หาง่ายหรือเศษวัสดุเหลือใช้ โดยคำนึงถึงการประหยัดและประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม
การประเมินผลโดยการใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียนนั้นมีนักวิชาการ นักการศึกษาได้เขียนข้อเสนอแนะไว้มากมายหลายวิธีการด้วยกัน แต่ก็ยึดหลักการเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างกัน คือ ขั้นตอนการประเมิน อาจจะมากบ้างน้อยบ้าง แต่ในที่นี้ขอเสนอขั้นตอนการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมมีขั้นตอนสำคัญ 10 ขั้นตอน
กล่าวโดยสรุป การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน เป็นการประเมินความสำเร็จของนักเรียนจากผลงานที่เป็นชิ้นงานที่ดีที่สุด หรืองานที่แสดงความก้าวหน้าที่นักเรียนเก็บสะสมในแฟ้ม/สมุด/กล่องหรือกระเป๋า แล้วแต่ลักษณะของงานอาจจะมีจำนวนหนึ่งชิ้นหรือมากกว่า ที่เพียงพอที่จะแสดงถึงความพยายาม ความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในเรื่องที่เรียนหรือได้รับมอบหมาย ในจุดประสงค์/เรื่องนั้นๆ หรือวิชานั้นๆ การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน เป็นได้ทั้งประเมินผลย่อย (formative) เพื่อการพัฒนานักเรียน และเป็นไปได้ทั้งประเมิน ผลรวม (summative) แต่ข้อที่ครูพึงระลึกอยู่เสมอก็คือ การประเมินดังกล่าวมีทั้งการประเมินเพื่อดูความก้าวหน้า หาข้อดี ซึ่งเป็นการประเมินเชิงบวก และค้นหาสิ่งที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ปรับปรุง แก้ไข เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขาเอง และบรรลุเกณฑ์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้แฟ้มสะสมงานนักเรียนยังเป็นศูนย์รวมที่แสดงออกถึงศักยภาพ ความก้าวหน้า และกระบวนการ รวมทั้งความรู้สึกถึงความสำเร็จและความภาคภูมิใจของนักเรียนที่มีต่อเพื่อนนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าการประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมผลงานจะเป็นสื่อไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (http://school.obec.go.th/sup_br3/cr_3.htm)

สภาพปัจจุบันและทิศทางการประเมินในอนาคต

การประเมินโดยทั่วไป หมายถึง การรวบรวมสารสนเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด หากกล่าวถึงการประเมินแต่ละประเภทแล้ว สามารถแบ่งตามประเภทของสิ่งที่มุ่งประเมินได้ 7 กลุ่ม คือ 1) การประเมินนโยบายและแผน 2) การประเมินโครงการ 3) การประเมินองค์กร 4) การประเมินบุคคลากร 5) การประเมินหลักสูตรและการสอน 6) การประเมินผู้เรียน และ 7) การประเมินตนเอง ต่อไปนี้จะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของการประเมินแต่ละประเภท ตามสภาพ ลักษณะปัญหา และทิศทางการประเมินในอนาคต ดังนี้
สภาพทั่วไปของการประเมินจะมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน ตั้งแต่การวิเคราะห์สิ่งที่มุ่งประเมิน กำหนดปัญหา ออกแบบการประเมินเรื่อยไปจนถึงการสรุป อภิปรายผลและการนำเสนอผลการประเมิน มีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้างเช่น การประเมินบุคลากรจะมีลักษณะเฉพาะที่เน้นการประเมินความต้องการจำเป็น เพื่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อการคัดสรรและการจัดวางตำแหน่ง หรือเพื่อประเมินการปฏิบัติรายบุคคล ซึ่งแตกต่างจากการประเมินหลักสูตรที่มักเป็นการประเมินแต่ละองค์ประกอบของหลักสูตรมากกว่า สำหรับด้านการประเมินผู้เรียน มีทั้งการประเมินความรู้ความสามารถ ประเมินทักษะปฏิบัติ และประเมินคุณลักษณะผู้เรียน ในปัจจุบันพระราชบัญญัติการศึกษาเน้นการประเมินผู้เรียนให้ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด จึงเกิดการประเมินตามสภาพจริงขึ้น ส่วนการประเมินตนเองนั้น เป็นได้ทั้งระดับองค์กร และระดับบุคคล มีทั้งการประเมินการบริหารโครงการ บริหารแผนงาน การประเมินการบริหารหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน การประเมินการบริหารงานบุคคล รวมถึงการประเมินการบริหารองค์กร วัตถุประสงค์ของการประเมินตนเอง เพื่อแสดงความรับผิดชอบขององค์กร หรือบุคคลที่ปฏิบัติงาน และเพื่อมุ่งเน้นการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบการตัดสินคุณค่าเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน โดยผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ประเมินตนเอง ซึ่งการประเมินตนเองนี้ อาจเป็นการประเมินผู้เรียน ประเมินบุคคลากร หรือประเมินองค์กรก็ได้ ( กระทรวงศึกษาธิการ,2542)
ต่อไปนี้เป็นการนำเสนอปัญหาอุปสรรคของการประเมินประเภทต่าง ๆ ซึ่งสามารถจำแนกตามเป้าของสิ่งที่มุ่งประเมินได้ดังนี้ 1) การประเมินนโยบายและแผน มีปัญหาจากระบบกล่าวคือ นโยบายและแผนมักถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ทำให้ยากที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาก่อนกำหนดนโยบาย ไม่มีการกำหนดเป้าหมายหรือดัชนีชี้วัดเพื่อการประเมินนโยบายและแผนไว้ล่วงหน้า มักทำการประเมินได้เฉพาะส่วน ไม่ครอบคลุมองค์ประกอบของนโยบายและแผนทั้งหมด และมักใช้เฉพาะข้อมูลทุติยภูมิในการประเมิน ทำให้ไม่สามารถได้ข้อมูลอย่างครอบคลุมทั้งในประเมินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพได้ชัดเจน ส่งผลให้ผลการประเมินเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง และการนำผลการประเมินไปปรับปรุงแผนงานมีน้อย ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุของการระบุตัวผู้ดูแลนโยบายและแผนไม่ชัดเจน จึงเกิดการปฏิเสธเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติและติดตามแผนย่อยต่าง ๆ ขาดการวางแผนการนำผลการประเมินไปใช้ ขาดการประเมินอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ขาดเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามแผน การรายงานผลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงเนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และเวลาในการประเมินมีไม่เพียงพอ 2) ปัญหาการประเมินโครงการมักเกิดจากวิธีการดำเนินงานในโครงการไม่เหมาะสม ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ จึงเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนการประเมิน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบโครงการบ่อย ๆ ทำให้การปฏิบัติงานในโครงการสะดุดหรือจำเป็นต้องยุติกลางคันในบางกรณี 3) ปัญหาการประเมินบุคคลากร ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน เช่น ผู้ถูกประเมินไม่ยอมรับผลการประเมิน ทัศนคติไม่ดีต่อผู้บริหารหรือทีมผู้ประเมินเป็นต้น หรือปัญหาจากเทคนิควิธีในการประเมินไม่เหมาะสม ไม่เปิดโอกาสให้ผู้กี่ยวข้องได้ประเมินแลกเปลี่ยนกัน มักเกิดขึ้นในการประเมินที่ดำเนินการโดยผู้มีอำนาจเบื้องบนขององค์กร ประเมินลงมา เพียงเส้นทางเดียว 4) ปัญหาการประเมินหลักสูตร เกิดจากนักประเมินขาดความรู้ความสามารถในระเบียบวิธีการประเมิน ขาดการศึกษาเพื่อให้เข้าใจหลักสูตรที่ทำการประเมินอย่างแท้จริงก่อนวางแผนออกแบบการประเมิน เพราะแต่ละหลักสูตรมีความแตกต่างกัน จึงต้องปรับยุทธวิธีในการประเมินเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถาบันการศึกษา หรือหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป อีกประการหนึ่งการที่ผู้ประเมินขาดอำนาจในการประสานงานกับผู้ใช้หลักสูตร ผู้รับผลหรือผู้เกี่ยวข้องกับหลักสูตร เช่น ผู้ใช้บัณฑิต ผู้ให้ข้อมูลหลัก เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูล ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนตามแผนการประเมินที่ออกแบบไว้ ปัญหาจากผู้ใช้ผลการประเมินไม่เห็นความสำคัญของการนำผลการประเมินไปปรับปรุงหลักสูตร หรือเห็นความสำคัญแต่ไม่มีอำนาจเพียงพอในการนำผลการประเมินไปพัฒนาหลักสูตรอย่างจริงจัง เป็นต้น 5) ปัญหาการประเมินผู้เรียน ได้แก่ ส่วนใหญ่เป็นการประเมินความรู้ทางสมองมากกว่าด้านอื่น ๆ อาจเกิดจากสาเหตุ ที่ผู้ประเมินขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการวัดและประเมินผล ขาดทักษะในการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผู้เรียนที่มีคุณภาพ และผลการวัดไม่ตรงกับสภาพจริง เน้นการตัดสินผู้รียนเทียบกับผู้เรียนอื่น ๆ มากกว่าการวิเคราะห์การพัฒนาการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล 6) ปัญหาการประเมินตนเอง ได้แก่ ผู้ประเมินขาดความรู้ความเข้าใจระเบียบวิธีการประเมิน การไม่เห็นความสำคัญของการประเมินตนเอง ขาดการวางแผนหรือเตรียมการประเมิน ปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการประเมินตนเองไม่ดี การประเมินตนเองโดยบิดเบือนข้อมูลไปจากความเป็นจริง ส่งผลให้ผลการประเมินไม่ตรงตามสภาพจริงของบุคคลหรอองค์กรนั้น จึงไม่สามารถนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงงานได้ เนื่องจาก ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง อีกประการหนึ่งได้แก่การที่ผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญของการนำผลการประเมินตนเองไปใช้เพื่อการปรับปรุงงานอย่างแท้จริง
สำหรับทิศทางการประเมินแต่ละประเภท มีดังต่อไปนี้ 1) ทิศทางการประเมินนโยบายและแผน ในช่วงก่อนการนำนโยบายและแผนไปปฏิบัติ ควรมีการศึกษานำร่อง ในรูปแบบกึ่งทดลอง และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง สำหรับช่วงหลังการนำนโยบายไปปฏิบัติ จะต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ทั้งระหว่างดำเนินนโยบาย และแผน เพื่อประเมินความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรค และการประเมินหลังเสร็จสิ้นนโยบายและแผนนั้น ทั้ง เสร็จสิ้นระยะหนึ่ง ๆ และเสร็จสิ้นแผนรวมทั้งหมด ต้องประเมินผลลลัพธ์ ผลผลิต และผลกระทบทั้งทางตาง ทางอ้อม ทั้งทางบวกและทางลบตามความเป็นจริง โดยใช้สหวิทยาการประเมินอย่างหลากหลายมากขึ้น 2)ทิศทางการประเมินโครงการ จะต้องมีการประเมินโครงการใหญ่ ๆ ทั้งหมด ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประเมินโครงการย่อย ๆ ที่ใช้แก้ไขวิกฤตของชุมชน องค์กร หรือของสถาบันต่าง ๆ ด้วย 3) ทิศทางการประเมินองค์กร ทั้งของภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาระบบการประเมินองค์กร การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินองค์กรแต่ละประเภท การวิเคราะห์องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ซึ่งมีทั้งการประเมินตนเอง และการประเมินตามระบบประกันคุณภาพ 4) ทิศทางการประเมินบุคลากร จะเป็นการประเมินที่ใช้แหล่งข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น การพัฒนาเครื่องมือประเมิน ที่ช่วยให้สามารถประเมินได้ในสภาพการทำงานปกติ และการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินที่มีประสิทธิภาพเป็นต้น 5) ทิศทางการประเมินหลักสูตร ได้แก่ การใช้วิธีการประเมินที่หลากหลาย ประกอบกับการทำวิจัยเพื่อการประเมินหลักสูตรอย่างเป็นระบบมากขึ้น 6) ทิศทางการประเมินผู้เรียน นับจากปัจจุบันนี้เป็นต้นไป การประเมินผู้เรียนจะเน้นที่การประเมินตามสภาพจริงมากขึ้น โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอน ได้แก่ เทคนิคการประเมินการปฏิบัติ การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน การประเมินด้วยการสังเกตพฤติกรรม การประเมินจาการสื่อสารส่วนบุคคล การให้ผู้เรียนรายงานตนเอง หรือประเมินจากบันทึกการสอนของครู จากแบบทดสอบ และแบบวัดคุณลักษณะ 7) ทิศทางการประเมินตนเอง จะมีการประเมินครบทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การประเมินความต้องการจำเป็น การประเมินความเป็นไปได้ เรื่อยไปจนถึงการประเมินผลผลิตและผลกระทบจากการดำเนินงาน เป็นต้น
โดยสรุปรูปแบบและขั้นตอนการประเมินถึงแม้เป้าของการประเมินจะแตกต่างกันก็ตาม แต่มักจะมีขั้นตอนการประเมินเป็นระบบที่คล้ายคลึงกัน ในอดีตการประเมินบางครั้ง อาจกระทำอย่างแยกส่วน มีการใช้ข้อมูลทุติยภูมิมากเนื่องจาก ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิได้ อีกทั้งการนำผลการประเมินไปใช้มีน้อย ผู้ประเมินยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการประเมิน รวมถึงการเมืองของการประเมิน ส่งผลให้การนำเสนอผลการประเมินบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ในยุคปัจจุบันนี้ จากสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นสูงขึ้น วัดคุณค่าขององค์กรเป็นรูปแบบการค้า ต้นทุน กำไรมากขึ้น ทั้งภาคธุระกิจและภาคการศึกษา ทำให้เกิดการตื่นตัวเพื่อการอยู่รอดขององค์กร การประเมินจึงเป้นความจำเป็นสำหรับทุกหน่วยงาน ทั้งโดยการประเมินตนเอง และการประเมินจากภายนอก เพื่อให้องค์กรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถแข่งขันกับหน่วยงานประเภทเดียวกันได้ เป็นที่ต้องการของลูกค้าและผู้ใช้บริการ จึงเกิดการปรับทิศทางการประเมิน ในระบบย่อยหรือระดับปฏิบัติเริ่มเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบวิธีการประเมินและเห็นความสำคัญของการรายงานตนเองมากขึ้น นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับการประเมินว่าเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างขึ้นทุกที จึงจะนำไปสู่การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินต่าง ๆ มีการใช้วิทยวิธีการประเมินที่หลากหลาย และสอดคล้องกับสภาพจริงมากขึ้น เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการนำผลการประเมินไปปรับปรุงงานมากขึ้นตามไปด้วย

...............................................................................
โดยนางสาวกาญจนา หอมกุล
2502500511

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กรุงเทพ: โรงพิมพ์คุรุสภา
2545
มหาวทิยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประมวลสาระชุดวิชาสัมมนาการประเมินทางการศึกษา
หน่วยที่ 8- 14 นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2546
สมคิด พรมจุ้ย เทคนิคการประเมินโครงการ พิมพ์ครั้งที่ 5 นนทบุรี: จตุพร ดีไซน์ 2550
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณถาพการศึกษา จุลสาร สมศ. ฉบับที่ 12
ประจำเดือน กรกฎาคม 2545
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา รายงานปฏิรูปการศึกษาไทย ปีที่ 4 ฉบับที่ 49 มกราคม 2545