Powered By Blogger

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สภาพปัจจุบันและทิศทางการประเมินในอนาคต

การประเมินโดยทั่วไป หมายถึง การรวบรวมสารสนเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด หากกล่าวถึงการประเมินแต่ละประเภทแล้ว สามารถแบ่งตามประเภทของสิ่งที่มุ่งประเมินได้ 7 กลุ่ม คือ 1) การประเมินนโยบายและแผน 2) การประเมินโครงการ 3) การประเมินองค์กร 4) การประเมินบุคคลากร 5) การประเมินหลักสูตรและการสอน 6) การประเมินผู้เรียน และ 7) การประเมินตนเอง ต่อไปนี้จะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของการประเมินแต่ละประเภท ตามสภาพ ลักษณะปัญหา และทิศทางการประเมินในอนาคต ดังนี้
สภาพทั่วไปของการประเมินจะมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน ตั้งแต่การวิเคราะห์สิ่งที่มุ่งประเมิน กำหนดปัญหา ออกแบบการประเมินเรื่อยไปจนถึงการสรุป อภิปรายผลและการนำเสนอผลการประเมิน มีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้างเช่น การประเมินบุคลากรจะมีลักษณะเฉพาะที่เน้นการประเมินความต้องการจำเป็น เพื่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อการคัดสรรและการจัดวางตำแหน่ง หรือเพื่อประเมินการปฏิบัติรายบุคคล ซึ่งแตกต่างจากการประเมินหลักสูตรที่มักเป็นการประเมินแต่ละองค์ประกอบของหลักสูตรมากกว่า สำหรับด้านการประเมินผู้เรียน มีทั้งการประเมินความรู้ความสามารถ ประเมินทักษะปฏิบัติ และประเมินคุณลักษณะผู้เรียน ในปัจจุบันพระราชบัญญัติการศึกษาเน้นการประเมินผู้เรียนให้ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด จึงเกิดการประเมินตามสภาพจริงขึ้น ส่วนการประเมินตนเองนั้น เป็นได้ทั้งระดับองค์กร และระดับบุคคล มีทั้งการประเมินการบริหารโครงการ บริหารแผนงาน การประเมินการบริหารหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน การประเมินการบริหารงานบุคคล รวมถึงการประเมินการบริหารองค์กร วัตถุประสงค์ของการประเมินตนเอง เพื่อแสดงความรับผิดชอบขององค์กร หรือบุคคลที่ปฏิบัติงาน และเพื่อมุ่งเน้นการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบการตัดสินคุณค่าเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน โดยผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ประเมินตนเอง ซึ่งการประเมินตนเองนี้ อาจเป็นการประเมินผู้เรียน ประเมินบุคคลากร หรือประเมินองค์กรก็ได้ ( กระทรวงศึกษาธิการ,2542)
ต่อไปนี้เป็นการนำเสนอปัญหาอุปสรรคของการประเมินประเภทต่าง ๆ ซึ่งสามารถจำแนกตามเป้าของสิ่งที่มุ่งประเมินได้ดังนี้ 1) การประเมินนโยบายและแผน มีปัญหาจากระบบกล่าวคือ นโยบายและแผนมักถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ทำให้ยากที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาก่อนกำหนดนโยบาย ไม่มีการกำหนดเป้าหมายหรือดัชนีชี้วัดเพื่อการประเมินนโยบายและแผนไว้ล่วงหน้า มักทำการประเมินได้เฉพาะส่วน ไม่ครอบคลุมองค์ประกอบของนโยบายและแผนทั้งหมด และมักใช้เฉพาะข้อมูลทุติยภูมิในการประเมิน ทำให้ไม่สามารถได้ข้อมูลอย่างครอบคลุมทั้งในประเมินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพได้ชัดเจน ส่งผลให้ผลการประเมินเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง และการนำผลการประเมินไปปรับปรุงแผนงานมีน้อย ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุของการระบุตัวผู้ดูแลนโยบายและแผนไม่ชัดเจน จึงเกิดการปฏิเสธเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติและติดตามแผนย่อยต่าง ๆ ขาดการวางแผนการนำผลการประเมินไปใช้ ขาดการประเมินอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ขาดเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามแผน การรายงานผลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงเนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และเวลาในการประเมินมีไม่เพียงพอ 2) ปัญหาการประเมินโครงการมักเกิดจากวิธีการดำเนินงานในโครงการไม่เหมาะสม ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ จึงเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนการประเมิน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบโครงการบ่อย ๆ ทำให้การปฏิบัติงานในโครงการสะดุดหรือจำเป็นต้องยุติกลางคันในบางกรณี 3) ปัญหาการประเมินบุคคลากร ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน เช่น ผู้ถูกประเมินไม่ยอมรับผลการประเมิน ทัศนคติไม่ดีต่อผู้บริหารหรือทีมผู้ประเมินเป็นต้น หรือปัญหาจากเทคนิควิธีในการประเมินไม่เหมาะสม ไม่เปิดโอกาสให้ผู้กี่ยวข้องได้ประเมินแลกเปลี่ยนกัน มักเกิดขึ้นในการประเมินที่ดำเนินการโดยผู้มีอำนาจเบื้องบนขององค์กร ประเมินลงมา เพียงเส้นทางเดียว 4) ปัญหาการประเมินหลักสูตร เกิดจากนักประเมินขาดความรู้ความสามารถในระเบียบวิธีการประเมิน ขาดการศึกษาเพื่อให้เข้าใจหลักสูตรที่ทำการประเมินอย่างแท้จริงก่อนวางแผนออกแบบการประเมิน เพราะแต่ละหลักสูตรมีความแตกต่างกัน จึงต้องปรับยุทธวิธีในการประเมินเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถาบันการศึกษา หรือหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป อีกประการหนึ่งการที่ผู้ประเมินขาดอำนาจในการประสานงานกับผู้ใช้หลักสูตร ผู้รับผลหรือผู้เกี่ยวข้องกับหลักสูตร เช่น ผู้ใช้บัณฑิต ผู้ให้ข้อมูลหลัก เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูล ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนตามแผนการประเมินที่ออกแบบไว้ ปัญหาจากผู้ใช้ผลการประเมินไม่เห็นความสำคัญของการนำผลการประเมินไปปรับปรุงหลักสูตร หรือเห็นความสำคัญแต่ไม่มีอำนาจเพียงพอในการนำผลการประเมินไปพัฒนาหลักสูตรอย่างจริงจัง เป็นต้น 5) ปัญหาการประเมินผู้เรียน ได้แก่ ส่วนใหญ่เป็นการประเมินความรู้ทางสมองมากกว่าด้านอื่น ๆ อาจเกิดจากสาเหตุ ที่ผู้ประเมินขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการวัดและประเมินผล ขาดทักษะในการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผู้เรียนที่มีคุณภาพ และผลการวัดไม่ตรงกับสภาพจริง เน้นการตัดสินผู้รียนเทียบกับผู้เรียนอื่น ๆ มากกว่าการวิเคราะห์การพัฒนาการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล 6) ปัญหาการประเมินตนเอง ได้แก่ ผู้ประเมินขาดความรู้ความเข้าใจระเบียบวิธีการประเมิน การไม่เห็นความสำคัญของการประเมินตนเอง ขาดการวางแผนหรือเตรียมการประเมิน ปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการประเมินตนเองไม่ดี การประเมินตนเองโดยบิดเบือนข้อมูลไปจากความเป็นจริง ส่งผลให้ผลการประเมินไม่ตรงตามสภาพจริงของบุคคลหรอองค์กรนั้น จึงไม่สามารถนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงงานได้ เนื่องจาก ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง อีกประการหนึ่งได้แก่การที่ผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญของการนำผลการประเมินตนเองไปใช้เพื่อการปรับปรุงงานอย่างแท้จริง
สำหรับทิศทางการประเมินแต่ละประเภท มีดังต่อไปนี้ 1) ทิศทางการประเมินนโยบายและแผน ในช่วงก่อนการนำนโยบายและแผนไปปฏิบัติ ควรมีการศึกษานำร่อง ในรูปแบบกึ่งทดลอง และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง สำหรับช่วงหลังการนำนโยบายไปปฏิบัติ จะต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ทั้งระหว่างดำเนินนโยบาย และแผน เพื่อประเมินความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรค และการประเมินหลังเสร็จสิ้นนโยบายและแผนนั้น ทั้ง เสร็จสิ้นระยะหนึ่ง ๆ และเสร็จสิ้นแผนรวมทั้งหมด ต้องประเมินผลลลัพธ์ ผลผลิต และผลกระทบทั้งทางตาง ทางอ้อม ทั้งทางบวกและทางลบตามความเป็นจริง โดยใช้สหวิทยาการประเมินอย่างหลากหลายมากขึ้น 2)ทิศทางการประเมินโครงการ จะต้องมีการประเมินโครงการใหญ่ ๆ ทั้งหมด ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประเมินโครงการย่อย ๆ ที่ใช้แก้ไขวิกฤตของชุมชน องค์กร หรือของสถาบันต่าง ๆ ด้วย 3) ทิศทางการประเมินองค์กร ทั้งของภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาระบบการประเมินองค์กร การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินองค์กรแต่ละประเภท การวิเคราะห์องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ซึ่งมีทั้งการประเมินตนเอง และการประเมินตามระบบประกันคุณภาพ 4) ทิศทางการประเมินบุคลากร จะเป็นการประเมินที่ใช้แหล่งข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น การพัฒนาเครื่องมือประเมิน ที่ช่วยให้สามารถประเมินได้ในสภาพการทำงานปกติ และการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินที่มีประสิทธิภาพเป็นต้น 5) ทิศทางการประเมินหลักสูตร ได้แก่ การใช้วิธีการประเมินที่หลากหลาย ประกอบกับการทำวิจัยเพื่อการประเมินหลักสูตรอย่างเป็นระบบมากขึ้น 6) ทิศทางการประเมินผู้เรียน นับจากปัจจุบันนี้เป็นต้นไป การประเมินผู้เรียนจะเน้นที่การประเมินตามสภาพจริงมากขึ้น โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอน ได้แก่ เทคนิคการประเมินการปฏิบัติ การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน การประเมินด้วยการสังเกตพฤติกรรม การประเมินจาการสื่อสารส่วนบุคคล การให้ผู้เรียนรายงานตนเอง หรือประเมินจากบันทึกการสอนของครู จากแบบทดสอบ และแบบวัดคุณลักษณะ 7) ทิศทางการประเมินตนเอง จะมีการประเมินครบทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การประเมินความต้องการจำเป็น การประเมินความเป็นไปได้ เรื่อยไปจนถึงการประเมินผลผลิตและผลกระทบจากการดำเนินงาน เป็นต้น
โดยสรุปรูปแบบและขั้นตอนการประเมินถึงแม้เป้าของการประเมินจะแตกต่างกันก็ตาม แต่มักจะมีขั้นตอนการประเมินเป็นระบบที่คล้ายคลึงกัน ในอดีตการประเมินบางครั้ง อาจกระทำอย่างแยกส่วน มีการใช้ข้อมูลทุติยภูมิมากเนื่องจาก ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิได้ อีกทั้งการนำผลการประเมินไปใช้มีน้อย ผู้ประเมินยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการประเมิน รวมถึงการเมืองของการประเมิน ส่งผลให้การนำเสนอผลการประเมินบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ในยุคปัจจุบันนี้ จากสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นสูงขึ้น วัดคุณค่าขององค์กรเป็นรูปแบบการค้า ต้นทุน กำไรมากขึ้น ทั้งภาคธุระกิจและภาคการศึกษา ทำให้เกิดการตื่นตัวเพื่อการอยู่รอดขององค์กร การประเมินจึงเป้นความจำเป็นสำหรับทุกหน่วยงาน ทั้งโดยการประเมินตนเอง และการประเมินจากภายนอก เพื่อให้องค์กรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถแข่งขันกับหน่วยงานประเภทเดียวกันได้ เป็นที่ต้องการของลูกค้าและผู้ใช้บริการ จึงเกิดการปรับทิศทางการประเมิน ในระบบย่อยหรือระดับปฏิบัติเริ่มเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบวิธีการประเมินและเห็นความสำคัญของการรายงานตนเองมากขึ้น นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับการประเมินว่าเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างขึ้นทุกที จึงจะนำไปสู่การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินต่าง ๆ มีการใช้วิทยวิธีการประเมินที่หลากหลาย และสอดคล้องกับสภาพจริงมากขึ้น เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการนำผลการประเมินไปปรับปรุงงานมากขึ้นตามไปด้วย

...............................................................................
โดยนางสาวกาญจนา หอมกุล
2502500511

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กรุงเทพ: โรงพิมพ์คุรุสภา
2545
มหาวทิยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประมวลสาระชุดวิชาสัมมนาการประเมินทางการศึกษา
หน่วยที่ 8- 14 นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2546
สมคิด พรมจุ้ย เทคนิคการประเมินโครงการ พิมพ์ครั้งที่ 5 นนทบุรี: จตุพร ดีไซน์ 2550
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณถาพการศึกษา จุลสาร สมศ. ฉบับที่ 12
ประจำเดือน กรกฎาคม 2545
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา รายงานปฏิรูปการศึกษาไทย ปีที่ 4 ฉบับที่ 49 มกราคม 2545

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น